โครงการพัฒนาทักษะการเงินและอาชีพเด็กในโรงเรียน






มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับมูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการ “พัฒนาทักษะการเงินและอาชีพในโรงเรียน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ คำแนะนำในด้านการเงิน แนวทางการสร้างอาชีพสำหรับนักเรียนให้เป็นผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ กลุ่มเป้าหมายจำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ 1.โรงเรียนผาขวางวิทยา ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 2.โรงเรียนดอยแสนใจ (ตชด.อนุสรณ์) ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และ 3.โรงเรียนมนตรีวิทยา ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
เป้าหมาย
นักเรียนชาวไทยภูเขามีความรู้และทักษะการเงินและมีรายได้จากการประกอบอาชีพระหว่างเรียน
สภาพปัญหา
- เด็กนักเรียนยังขาดวินัยเรื่องการใช้เงินและการออม และยังขาดทักษะอาชีพที่หลากหลายที่ทันยุคสมัย เช่น การค้าออนไลน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
- เด็กเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วไม่เรียนต่อ มีหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ ครอบครัวมีฐานะยากจน เด็กเรียนต่อสายสามัญไม่ไหว ผลการเรียนค่อนข้างต่ำ ทำให้ไม่อยากเรียนต่อ บางครอบครัวผู้ปกครองไม่สนับสนุนให้เรียนต่อ ยังมีแนวคิดแบบเดิมๆ ให้เด็กออกมาช่วยงานทำไร่ ทำสวนและใช้แรงงาน
- เด็กและเยาวชนในระหว่างเรียนยังไม่สามารถค้นหาความต้องการหรือความถนัดของตัวเอง ว่าอยากทำอะไรหรืออยากเรียนต่อทางด้านไหน
- กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูง ทำให้ยิ่งขาดโอกาสในหลายๆด้านนอกจากด้านการศึกษาที่สูงขึ้นแล้วยังมีปัญหาอุปสรรคด้านการจ้างงานอีกด้วย รวมทั้งระบบสวัสดิการต่างๆยังไม่ครอบคลุม รวมทั้งการศึกษาในมหาวิทยาลัยในปัจจุบันยังมีปัญหา การผลิตบัณฑิตจบออกมาแต่ไม่มีงานรองรับ และขาดศักยภาพเฉพาะด้าน ทำให้ภาวการณ์ตกงานในปัจจุบันมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ
กิจกรรม
- การฝึกอบรมความรู้ทางการเงิน
- ค่ายแนะแนวอาชีพ
- การฝึกอบรมการเขียนแผนธุรกิจ/การบริหารจัดการกลุ่ม/ทักษะการเป็นผู้ประกอบการและทักษะการผลิต
- สนับสนุนงบประมาณตามแผนงานธุรกิจ
- ดำเนินธุรกิจจริงในโรงเรียน
ผลผลิต/ผลลัพธ์
- นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ และรู้จักใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุผล
- นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถจัดทำบันทึกรายรับรายจ่ายได้อย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง
- นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้ระหว่างเรียน และสามารถนำไปเงินออมของตนเอง
- นักเรียน/ ครูที่ปรึกษา ที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ในการเขียนแผนธุรกิจ
- เกิดการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรม และจัดตั้งเป็นชุมนุม/ชมรม ภายในโรงเรียน
ตัวชี้วัด
- นักเรียนจำนวน 80% ของแต่ละโรงเรียนได้รับความรู้ทางการเงิน
- นักเรียนจำนวน 60% ที่เข้าร่วมอบรมความรู้ทางการเงินสามารถบันทึกรายรับรายจ่าย ได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน
- โรงเรียนมีแผน BMC อย่างน้อย 3 แผนต่อโรงเรียน
- นักเรียนที่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจระหว่างเรียนมีเงินออมเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 10%
- แผน BMC ได้รับการสนับสนุนและมีการดำเนินงานต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน